นักลงทุนมีกี่ประเภท เช็กเลย ตัวคุณเป็นประเภทไหน

นักลงทุนมืออาชีพ
August 6, 2023

หนึ่งในอาชีพที่ฟังดูมีความเชี่ยวชาญ และมีแนวโน้มรายได้สูงคือ นักลงทุนมืออาชีพ โดยสามารถศึกษาหาความรู้ทางการลงทุน แล้วเริ่มเป็นจากระดับเริ่มต้นผ่านเครื่องมือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้เลย ทั้งนี้หากคุณเคยผ่านสนามการลงทุน หรือมีความรู้ในการลงทุนระดับหนึ่งแล้ว อาจเคยเห็นคำศัพท์เกี่ยวกับประเภทของนักลงทุนที่แตกต่างกันไป หากเข้าใจความแตกต่างของแต่ละประเภท ก็จะช่วยให้เข้าใจแนวทางการลงทุนของตนเองเพื่อพัฒนาต่อยอดการลงทุนได้มากขึ้น

ประเภทนักลงทุนตามนิยาม และตามขนาดของกำลังเงินลงทุน

หากอ้างอิงนิยามประเภทของนักลงทุนอย่างเป็นทางการ ก็ต้องยึดตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ก.ล.ต. นั่นเอง เนื่องจาก ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานรัฐผู้ดูแลและส่งเสริมตลาดการลงทุนของประเทศ จึงแบ่งประเภทผู้ลงทุนตามศักยภาพในการลงทุน ซึ่งศักยภาพนี้เกี่ยวข้องกับขนาดและความซับซ้อนของสินทรัพย์แต่ละชนิดด้วย โดยมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ

  1. ผู้ลงทุนรายย่อย

ผู้ลงทุนรายย่อย คือ นักลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสถานะทางการเงินเท่ากับประเภทอื่น ๆ เพราะผู้ลงทุนรายย่อยยังไม่สามารถรองรับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และยังมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทรัพย์สินต่าง ๆ ในระดับที่ไม่สูงมาก จึงสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อปี โดยสามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์พื้นฐานได้หลายประเภทตามศักยภาพในการรับความเสี่ยงของตนเอง 

  1. ผู้ลงทุนรายใหญ่

ผู้ลงทุนรายใหญ่ คือ นักลงทุนที่ผ่านการรับรองวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญในการลงทุนจาก 1 ใน 4 หลักสูตร คือ CFA, CISA, CAIA และ CFP มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาทในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลด้วยอาจมีการกำหนดตามเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 30,000,000 บาท ซึ่งนับรวมเงินฝากด้วย จำนวนหุ้นกู้หรือสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนรายใหญ่เข้าถึงได้ ก็จะมากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย เพราะรับความเสี่ยงได้มากกว่า 

นักลงทุนมืออาชีพ
  1. ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ จำเป็นต้องมีวุฒิบัตรรับรองความเชี่ยวชาญในการลงทุนตามหลักสูตรเช่นกัน แต่เกณฑ์เรื่องฐานะทางการเงินหรือสินทรัพย์จะสูงกว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 6,000,000 บาท และถ้าเป็นนิติบุคคลก็จะมีเกณฑ์เรื่องเงินลงทุนที่ต้องไม่น้อยกว่า 60,000,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ก.ล.ต. ได้มีการปรับเกณฑ์เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนในระดับสูงสุดของประเภทผู้ลงทุนก็ได้ หากมีเงินลงทุนขั้นต่ำตามเกณฑ์ฐานะบุคคลธรรมดาก็สามารถลงทุนได้เช่นกัน

  1. ผู้ลงทุนสถาบัน

ผู้ลงทุนสถาบัน ก็คือนักลงทุนในระดับมืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนเฉพาะด้าน มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วยใหญ่จึงเป็นนิติบุคคล คือเป็นสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ตั้งแต่บรรษัท กองทุน บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ ไปจนถึงธนาคารแห่งประเทศไทยก็อยู่ในประเภทนี้ด้วย โดยล่าสุด ก.ล.ต. ได้ปรับกฎเกณฑ์เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนอย่างนักวิเคราะห์การลงทุน และคนคุ้นเคยกิจการ เข้าเกณฑ์ผู้ลงทุนสถาบันด้วย

นักลงทุนแบ่งประเภทตามวิธีลงทุน สไตล์การลงทุนที่แตกต่างตามความถนัด

การแบ่งประเภทนักลงทุนตามสไตล์การลงทุนนั้น เป็นประเภทที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงมากกว่าคำจำกัดความแบบเป็นทางการ เพราะสไตล์การลงทุนนี้เองที่ทำให้เกิดคำศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ในกลุ่มผู้สนใจการเงินการลงทุน หากเข้าใจสไตล์การลงทุนของตัวเอง ก็จะมีแนวทางในการพัฒนาทักษะการลงทุนที่ดีขึ้นด้วย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. นักลงทุนพื้นฐาน

พื้นฐานในที่นี้คือ เป็นผู้ที่เลือกลงทุนโดยตัดสินใจจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของบริษัทที่ตัวเองซื้อหุ้นอยู่ ศักยภาพการแข่งขันในตลาดของบริษัท งบกำไรขาดทุนของบริษัท สภาพคล่องของกระแสเงินสด เป็นต้น 

  1. นักลงทุนเน้นการออมระยะยาว

ประเภทนี้เรียกได้อีกแบบว่าเน้นลงทุนแบบ DCA เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง รอรับผลตอบแทนในระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ภาพรวมของพอร์ตนักลงทุนสายนี้จะมีสินทรัพย์และปริมาณการลงทุนที่เฉลี่ยกันไปหลายประเภท เน้นสินทรัพย์ที่สะสมมูลค่าระยะยาวมากกว่าสินทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ที่มีความผันผวนสูงในระยะสั้น

  1. นักลงทุนที่ใช้เทคนิค

คุณอาจเคยเห็นการใช้กราฟเพื่อดูจังหวะการซื้อขายผ่านตากันมาบ้าง กราฟเป็นเครื่องมือทางเทคนิคอย่างหนึ่งของนักลงทุนประเภทนี้นั่นเอง โดยต้องมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เครื่องมือต่าง ๆ จับสัญญาณว่า จังหวะการลงทุนที่ดีสำหรับตัวเองคืออะไร สามารถซื้อขายสินทรัพย์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ สายเทคนิคยังสามารถใช้การดูพื้นฐานของสินทรัพย์ควบคู่กันไปได้ เรียกได้ว่าเป็นสาย Hybrid หรือสายที่ผสมผสานระหว่างการใช้เทคนิคกับการใช้ข้อมูลพื้นฐานนั่นเอง

  1. นักลงทุนตามกระแส 

ประเภทผู้ลงทุนตามกระแสจะไม่มีแนวทางในการลงทุนของตัวเองอย่างชัดเจน อาศัยการติดตามบทวิเคราะห์ของนักลงทุนคนอื่น ๆ หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมโดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย ผู้ที่ลงทุนตามกระแสจึงมีโอกาสขาดทุนสูง เพราะไม่ศึกษาสินทรัพย์ให้ดีพอ ถือเป็นประเภทที่ควรเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ทุกคนต้องมีไม่ต่างกันคือ วินัยที่ดี เพื่อพัฒนาทักษะการลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ถือสินทรัพย์หลายชนิด ผู้ลงทุนรายย่อยที่ถือสินทรัพย์ไม่กี่ชนิด ชอบการรอจังหวะเก็งกำไรในระยะสั้น ไปจนถึงสายเน้นสะสมเพื่อความมั่นคงระยะยาว ทุกสายทุกสไตล์ต้องหมั่นติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเงินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเชี่ยวชาญหรือมีชั่วโมงบินในสนามการลงทุนมากน้อยเพียงใด พื้นฐานที่ดีย่อมเป็นหลักรองรับการลงทุนที่ดีนั่นเอง

Tags: